ตอน 3 :- ชีวิตเป็นอย่างไร ?
กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ตัวกฎหรือตัวสภาวะ |
1บทที่ 5 |
ความนำ
หลักธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใด ๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากหลักสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่าง ๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนละตอนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน
ปฏิจจสมุปบาทนั้น ถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมได้ทั้งหมด เมื่ออธิบายปฏิจจสมุปบาทแล้ว เห็นว่าควรกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญชื่ออื่น ๆ อันเป็นที่รู้จักทั่วไปไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และเพื่อเสริมความเข้าใจทั้งในหลักธรรมเหล่านั้นและในปฏิจจสมุปบาทเองด้วย หลักธรรมที่ควรกล่าวถึงไว้ในที่นี้คือ กรรม
กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น 3 วัฏฏะ หรือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก
อย่างไรก็ดี การอธิบายตามแนวปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นการพิจารณาในแง่ของกระบวนการธรรมชาติว่าด้วยตัวกฎหรือสภาวะล้วน ๆ และเป็นการมองอย่างกว้าง ๆ ตลอดทั้งกระบวนการ ไม่เน้นที่จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อมองในแง่ความเป็นไปในชีวิตจริง จะเห็นว่าส่วนของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏเด่นชัดออกมาในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของการแสดงออก และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของคนโดยตรง ก็คือส่วนที่เรียกว่ากรรม ถ้าเพ่งในทางปฏิบัติอย่างนี้ ก็อาจยกเอากรรมขึ้นเป็นจุดเน้นและเป็นบทตั้ง แล้วเอาส่วนอื่น ๆ ของปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวประกอบสำหรับสืบสาวราวเรื่องต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาท ก็จะปรากฏในรูปร่างที่นิยมเรียกกันว่า กฎแห่งกรรม1 และจะมีเรื่องราวในแง่อื่น ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นแนวการอธิบายที่น่าศึกษา ดังปรากฏว่าในสมัยหลัง ๆ นี้ ก็นิยมพูดถึงกฎแห่งกรรมกันมากกว่าจะพูดถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะการพูดถึงกรรม เป็นการพูดถึงกิริยาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบ ปรากฏชัด เห็นง่าย เกี่ยวข้องอยู่เฉพาะหน้าทุกขณะทุกเวลา เหมาะที่จะถือเอาเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณา ยิ่งกว่านั้น การอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือจะอธิบายอย่างง่าย ๆ ในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ จะยกเอาเหตุการณ์หรือบทบาทของคนทั้งหลายขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ก็ทำได้สะดวก หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงจะได้เสนอคำอธิบายหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรมไว้ ณ ที่นี้ด้วย พอเป็นแนวสำหรับทำความเข้าใจ
บทต่อไป » |