ตอน 1: ชีวิตคืออะไร ?
ข. ชีวิต ตามความหมายของมนุษย์ และโดยสัมพันธ์กับโลก อายตนะ 6 แดนรับรู้และเสพเสวยโลก |
1บทที่ 2 |
แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วยขันธ์ 5 ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่าง ๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติ คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่และทำหน้าที่ของมันไปโดยมนุษย์ไม่รู้จัก หรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย เช่นในด้านรูปธรรม อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่โดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริตหรือทำหน้าที่บกพร่องขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ แม้องค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการฝ่ายจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาทางแพทยศาสตร์และชีววิทยา ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนการทำงานด้านจิตใจ เราปล่อยให้เป็นภาระของนักอภิธรรมและนักจิตวิทยา แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติ หรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิตก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์คือ ชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลก ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 ภาค แต่ละภาคมีระบบการทำงานซึ่งอาศัยช่องทางที่ชีวิตจะติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกได้ ซึ่งเรียกว่า “ทวาร (ประตู, ช่องทาง) ดังนี้
1. ภาครับรู้และเสพเสวยโลก อาศัยทวาร 61 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้และเสพเสวยโลกซึ่งปรากฏแก่มนุษย์โดยลักษณะและอาการต่าง ๆ ที่เรียกว่า อารมณ์ 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
2. ภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลก อาศัยทวาร 32 คือ กาย วาจา ใจ (กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร) สำหรับกระทำตอบต่อโลก โดยแสดงออกเป็นการทำ การพูด และการคิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)
ในภาคที่ 1 มีข้อที่พึงย้ำเป็นพิเศษเพื่อสะดวกแก่การศึกษาต่อไปว่า คำว่า “ทวาร” (ในทวาร 6) นั้น เมื่อนำไปกล่าวในระบบการทำงานของกระบวนธรรมแห่งชีวิต ท่านนิยมเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อายตนะ” ซึ่งแปลว่า แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือทางรับรู้ ดังนั้นในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป จะใช้คำว่า “อายตนะ” แทนคำว่า “ทวาร”
ในภาคที่ 2 มีข้อพึงย้ำคือ กระบวนธรรมของชีวิตในภาคนี้ รวมอยู่ในขันธ์ที่ 4 คือ สังขารขันธ์ ที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน สังขารต่าง ๆ ในสังขารขันธ์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย แบ่งเป็นฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายชั่วบ้าง ฝ่ายกลาง ๆ บ้าง จะปรากฏตัวออกมาปฏิบัติการโดยถูกเจตนาที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นตัวแทนเลือกชักจูงมา หรือจัดแจงมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยกันทำการปรุงแต่งการแสดงออกหรือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ เกิดเป็นกรรม คือการทำ การพูด การคิด ในกรณีนี้ สังขารจะถูกจัดประเภทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทของมัน โดยแบ่งตามทางหรือทวารที่แสดงออก เป็น กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร เรียกตามชื่อหัวหน้าหรือตัวแทนว่า กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา หรือเรียกตามงานที่ทำออกมาว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แสดงให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้
1. กายสังขาร | = | กายสัญเจตนา | — | กายทวาร | → | กายกรรม |
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย | = | ความจงใจ (แสดงออก) ทางกาย | ทางกาย | การกระทำทางกาย) | ||
2. วจีสังขาร | = | วจีสัญเจตนา | — | วจีทวาร | → | วจีกรรม |
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา | = | ความจงใจ (แสดงออก) ทางวาจา | ทางวาจา | การกระทำทางวาจา) | ||
3. มโนสังขาร | = | มโนสัญเจตนา | — | มโนทวาร | → | มโนกรรม |
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ | = | ความจงใจ (แสดง) ทางใจ | ทางใจ | การกระทำทางใจ) |
สังขารในฐานะเครื่องปรุงแต่งคุณภาพหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต ได้กล่าวแล้วในเรื่องขันธ์ 5 ส่วนสังขารในฐานะกระบวนการปรุงแต่งแสดงออกและกระทำการต่าง ๆ ต่อโลก เป็นเรื่องกิจกรรมของชีวิต ซึ่งจะแสดงเป็นพิเศษส่วนหนึ่งต่างหาก ในตอนว่าด้วยชีวิตเป็นไปอย่างไร ในที่นี้มุ่งแสดงแต่สภาวะอันเนื่องอยู่ที่ตัวชีวิตเองหรือองค์ประกอบของชีวิตพร้อมทั้งหน้าที่ของมันตามสมควร จึงจะกล่าวเฉพาะภาคที่ 1 คือเรื่อง อายตนะ 6 อย่างเดียว
บทต่อไป » |